รู้ทันโฆษณาอาหารเสริม ตอนที่ 1 งานวิจัย

รู้ทันโฆษณาอาหารเสริม

การเลือกพิจารณาอาหารเสริม ส่วนที่ถูกนำมาพิจารณา ก็คือคำบรรยายสรรพคุณที่ทางสินค้าสื่อสารออกมา ซึ่งเราก็สามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของสินค้าก่อนจะลองซื้อใช้ได้ระดับนึง แต่การที่สินค้าแต่แบรนด์ ต่างก็พยายามสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง การโฆษณาสรรพคุณอาจจะมีสำนวนที่ทำให้เข้าใจคุณสมบัติของสินค้าผิดไปจากความเป็นจริงได้ ลองมาดูว่าคำโฆษณา ที่เราได้เห็นอยู่บ่อย ๆ นั้น ความจริงแล้วมันหมายถึงอะไรกันแน่

 

การอ้างอิงว่า สินค้าที่มีผลงานวิจัยรับรอง  ก่อนอื่นต้องดูก่อนหว่า เป็นการวิจัยที่ตัวสินค้า หรือ งานวิจัยสารสกัดบางตัวที่อยู่ในสินค้า นอกจากนี้ยังต้องดูด้วยว่าเป็นงานวิจัยเพื่อการค้าที่ทางแบรนด์ ได้ร่วมวิจัย หรือได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากผู้วิจัย หรือที่จริงแล้ว เป็นงานวิจัยเชิงวิชาการ ซึ่งเผยแพร่มานานแล้ว ทางแบรนด์เพียงยกมาอ้างอิงเพื่อสื่อสารถึงสรรพคุณของสารสกัดบางส่วนเท่านั้น  ซึ่งการอ้างอิงลักษณะนี้ ทางผู้วิจัย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรับผิดชอบ เกี่ยวกับสรรพคุณของสินค้าแต่อย่างใด ต่างจากการทำวิจัยที่ตัวสินค้า ที่นักวิจัยต้องรับรองผลการวิจัย ของสินค้านั้นโดยตรง

 

ส่วนผลการวิจัยนั้น ควรพิจารณาว่า เป็นผลจากการวิจัยแบบใด เช่นเป็นผลการวิจัย ที่พบในหลอดทดลองเท่านั้น หรือ ผลการวิจัยที่ได้ทดสอบกับอาสาสมัคร และหากเป็นกลุ่มอาสาสมัคร  และนำมาเป็นข้อมูลโฆษณา ก็ควรเปิดเผยด้วยว่า กลุ่มอาสาสมัครมีจำนวนเท่าไหร่ กลุ่มอายุเท่าได มีสภาพร่างกายที่ส่งมีผลต่อการวิจัยอย่างไร ใช้เวลาในการวิจัยเท่าไหร่ ซึ่งหากมีข้อมูลเหล่านี้แล้ว เราก็จะพอประเมินได้ว่า งานวิจัยนี้มีความน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ ไม่ใช่ว่า อ้างว่า 99% ของอาสาสมัคร เห็นผลดี แต่จำนวนผู้ร่วมทดสอบมีเพียง 9 คนเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้ไม่น่าเชื่อถือเพียงพอเทียบกับ งานวิจัยที่ใช้อาสาสมัคร หลายสิบคน เป็นต้น

ผลการวิจัยที่พบในหลอดทดลองนั้นจะเป็นการหาผลการออกฤทธิ์ ต่อตัวแปรเฉพาะ เช่นการออกฤทธิ์ของสารสกัด ต่อ ไวรัส แบคทีเรีย หรือเซลล์มะเร็งเป็นต้น ซึ่งข้อมูลจะสามารถนำไปพัฒนาต่อ เพื่อทดสอบใน สัตว์ทดลอง และต่อร่างกายมนุษย์ต่อไป เพราะการผลการวิจัยที่พบในหลอดทดลอง อาจจะไม่ได้ผลเหมือนกับการนำเข้าร่างกาย เนื่องจากมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การดูดซึม บริเวณที่ออกฤทธิ์ และการเปลี่ยนสภาพ และการสลาย หรือ ระยะเวลาที่ขับออกจากร่างกาย ดังนั้น หากโฆษณาว่า พบว่ามีประสิทธิภาพในหลอดทดลอง อาจจะไม่พบประสิทธิภาพลักษณะเดียวกัน ในการรับประทานก็ได้