อากาศร้อนกับความดันโลหิตสูง

ความดันสูง กับอากาศร้อน

ปัจจุบัน อากาศในฤดูร้อน มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด เป็นเวลานาน อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้ จึงควรระมัดระวัง โดยเฉพาะกับเด็ก ผู้สูงอายุ และ ผู้ป่วย ไม่ให้อยู่ในที่อุณหภูมิร้อนจัด และอับอากาศเป็นเวลานาน

อากาศร้อนทำให้ ความดันโลหิตสูงขึ้นจริงหรือไม่

ที่จริงแล้ว สภาพอากาศร้อน จะทำให้ความดันโลหิต เปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งต่ำลง และ สูงขึ้น

สำหรับผู้ที่มีภาวะ ความดันโลหิตสูง อาจมีการตอบสนองต่อสภาพอากาศร้อนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับของภาวะความดันโลหิต สภาพอากาศ ความชื้น และสภาพร่างกายในขณะนั้น โดยทั่วไป เมื่อร่างกายอยู่ในสภาพอากาศร้อน จะเริ่มทำการระบายความร้อน ด้วยการขยายหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง เพื่อให้เลือดไหลผ่านได้ดีขึ้น เพื่อระบายความร้อน ในช่วงนี้จะส่งผลให้ ความดันโลหิตลดต่ำลง สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิต ที่มีภาวะ ความดันสูงเกือบตลอดเวลา เมื่อความดันลดลงเร็วเกินไป จากความพยายามระบายความร้อนของร่างกาย อาจจะทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืดได้

ในช่วงอากาศร้อน เมื่อร่างกายระบายความร้อน จะขับเหงื่อออกมาจำนวนมาก จะมีโอกาส ทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย หากไม่คอยดื่มน้ำเรื่อย ๆ เลือดจะข้นขึ้น หากอุณหภูมิสูงกว่า 42 องศาเซลเซียส อาจกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือด และทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น ยาขับปัสสาวะ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำในสภาพอากาศร้อน ซึ่งอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน

ข้อควรระวัง เมื่อต้องทำกิจกรรมในพื้นที่อากาศร้อน

  • ดื่มน้ำเป็นระยะ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ โดยจิบน้ำ อย่างสม่ำเสมอ อย่ารอจนกระหาย และ เตรียมน้ำใส่ภาชนะไว้ให้เพียงพอ หากอยู่ในระหว่างการเดินทาง
  • เลี่ยงการทานอาหารรสเผ็ดจัด เนื่องจากจะกระตุ้นการเผาผลาญ และ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น การทานน้ำแข็งเพื่อลดอุณหภูมิ ควรเลือกทานน้ำแข็งที่สะอาด
  • สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ที่ระบายอากาศ และ ระบายเหงื่อได้ดี จะช่วยให้ร่างกายระบายความร้อนได้ง่าย แทนเสื้อผ้าสีทึบ รัดรูป หรืออุ้มเหงื่อ
  • หากต้องตากแดด ควรสวมเสื้อผ้าที่ป้องกันผิวกายจากแสงแดด และสวมหมวก หรือกางร่มเพื่อลดการโดนแสงแดดโดยตรง
  • ไม่อยู่ในที่อับอากาศ บริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้ การระบายความร้อนทำได้ยาก เช่น ในรถยนต์ ที่ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ แม้ไม่โดนแสงแดดโดยตรง แต่ก็ทำให้เกิดอันตรายได้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ เครื่องกำเนิดความร้อนเป็นเวลานาน เช่น เตาหุงต้มอาหาร ควรเลือกใช้ เตาอบไมโครเวฟ เตาอบ หรือ หม้อทอดแบบปิด ที่ไม่กระจายความร้อนออกมา
  • เลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งอากาศร้อนจัด และแสงแดดอาจทำให้ผิวแสบร้อน สำหรับผู้ป่วยโรคความดัน ที่ทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน อาจจะทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ
  • หากพบอาการเวียนหัว มึนหัว บ่อยครั้งในช่วงอากาศร้อน ควรปรึกษาแพทย์
ในการดูเว็บไซต์นี้ คุณอนุญาตให้ใช้คุ๊กกี้ เพื่อมอบประสบการณ์ และข้อเสนอที่เหมาะสมสำหรับคุณ (คุ๊กกี้จะไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ หรือเบอร์โทร) This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.